เมนู

2. ปริยายสูตร



ว่าด้วยปริยายนิวรณ์ 5


[547] ครั้งนั้น ภิกษุมากรูป เวลาเช้า นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวร
เข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี. ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นได้มีความดำริว่า
เวลานี้เราจะเที่ยวไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถีก่อน ก็ยังเช้านัก ถ้ากระไร
เราพึงเข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเถิด. ภิกษุเหล่านั้นจึง
เข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ได้ปราศรัยกับพวกอัญญเดียรถีย์
ปริพาชก ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควร
ส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้ว พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกได้กล่าวกะภิกษุเหล่านั้นว่า
ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย พระสมณโคคมแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายอย่างนั้นว่า
มาเถิด ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละนิวรณ์ 5 อันเป็นอุปกิเลสของใจ
ทอนกำลังปัญญา แล้วเจริญโพชฌงค์ 7 ตามเป็นจริง ดังนี้. แม้พวกเราก็
แสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายอย่างนั้นว่า มาเถิด ผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลาย
จงละนิวรณ์ 5 อัน เป็นอุปกิเลสของใจ ทอนกำลังปัญญา แล้วเจริญโพชฌงค์ 7
ตามเป็นจริง. ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย ในการแสดงธรรมของเรานี้ อะไรเป็น
ความแปลกกัน อะไรเป็นประโยชน์อันยิ่ง อะไรเป็นความต่างกัน ระหว่าง
ธรรมเทศนาของพวกเรากับธรรมเทศนาของพระสมณโคดม หรืออนุศาสนี
ของพวกเรากับอนุศาสนีของพระสมณโคดม.
[548] ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นไม่ชื่นชม ไม่คัดค้านคำพูดของ
อัญญเดียรถีย์ปริพาชกพวกนั้น ครั้นแล้วลุกจากอาสนะหลีกไปด้วยตั้งใจว่า
เราทั้งหลายจักทราบเนื้อความแห่งคำพูดนี้ในสำนัก พระผู้มีพระภาคเจ้า.

[549] ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นครั้นเที่ยวบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี
เวลาปัจฉาภัต กลับจากบิณฑบาตแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ
ถวายบังคมแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส เมื่อเช้าวันนี้ ข้าพระองค์
ทั้งหลายนุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี ข้าพระองค ์
ทั้งหลายได้มีความดำริว่า เวลานี้เราจะเที่ยวไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถีก่อน
ก็ยังเช้านัก ถ้ากระไร เราพึงเข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก
เถิด. ลำดับนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลาย เข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์-
ปริพาชก ได้ปราศรัยกับพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ครั้นผ่านการปราศรัย
พอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. พวกอัญเดียรถีย์-
ปริพาชกได้พูดกะข้าพระองค์ทั้งหลายว่า ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย พระสมณโคดม
แสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายอย่างนี้ว่า มาเถิด ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย
จงละนิวรณ์ 5 อันเป็นอุปกิเลสของใจ ทอนกำลังปัญญา แล้วเจริญโพชฌงค์
7 ตามเป็นจริง ดังนี้ แม้พวกเราก็แสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายอย่างนี้ว่า
มาเถิด ผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงละนิวรณ์ 5 อันเป็นอุปกิเลสของใจ
ทอนกำลังปัญญา แล้วเจริญโพชฌงค์ 7 ตามเป็นจริง. ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย
ในการแสดงธรรมของเรานี้ อะไรเป็นความแปลกกัน อะไรเป็นประโยชน์
อันยิ่ง อะไรเป็นความต่างกัน ของพระสมณโคดมหรือของพวกเรา คือว่า
ธรรมเทศนาของพวกเรา กับธรรมเทศนาของพระสมณโคดม หรืออนุศาสนี
ของพวกเรากับอนุศาสนีของพระสมณโคดม.
[550] ครั้งนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลาย ไม่ชื่นชม ไม่คัดค้านคำพูด
ของอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น ครั้นแล้วลุกจากอาสนะหลีกไป ด้วยตั้งใจ
ว่า เราทั้งหลายจักทราบเนื้อความของคำพูดนี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า.

[551] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกอัญญ-
เดียรถีย์ปริพาชกผู้มีวาทะอย่างนี้ ควรเป็นผู้อันเธอทั้งหลาย พึงถามอย่างนี้ว่า
ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ปริยายที่นิวรณ์ 5 อาศัยแล้วเป็น 10 อย่าง ที่โพชฌงค์
7 อาศัยแล้วเป็น 14 อย่าง มีอยู่หรือ. พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกถูกเธอ
ทั้งหลายถามอย่างนี้แล้ว จักแก้ไม่ได้เลย และจักถึงความอึดอัดอย่างยิ่ง ข้อนั้น
เพราะเหตุไร. เพราะเป็นปัญหาที่ถามในฐานะมิใช่วิสัย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
เรายังไม่แลเห็นบุคคลในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ใน
หมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ที่จะยังจิตให้ยินดี
ด้วยการแก้ปัญหาเหล่านั้น เว้นเสียจากตถาคต สาวกของตถาคต หรือผู้ที่ฟัง
จากตถาคต หรือจากสาวกของตถาคตนั้น.
[552] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ปริยายที่นิวรณ์ 5 อาศัยแล้วเป็น
10 อย่าง เป็นไฉน.
[553] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้กามฉันทะในภายในก็เป็นนิวรณ์
แม้กามฉันทะในภายนอกก็เป็นนิวรณ์ คำว่า กามฉันทนิวรณ์ ดังนี้ ย่อมมาสู่
อุเทศ แม้โดยปริยายนี้ กามฉันทนิวรณ์นั้นก็เป็น 2 อย่าง.
[554] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้พยาบาทในภายในก็เป็นนิวรณ์
แม้พยาบาทในภายนอกก็เป็นนิวรณ์ คำว่า พยาบาทนิวรณ์ ดังนี้ ย่อมมาสู่
อุเทศ แม้โดยปริยายนี้ พยาบาทนิวรณ์นั้นก็เป็น 2 อย่าง.
[555] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ถีนะก็เป็นนิวรณ์ แม้มิทธะก็เป็น
นิวรณ์ คำว่า ถีนมิทธนิวรณ์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้โดยปริยายนี้
ถีนมิทธนิวรณ์นั้นก็เป็น 2 อย่าง.

[556] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้อุทธัจจะก็เป็นนิวรณ์ แม้กุกกุจจะ
ก็เป็นนิวรณ์ คำว่า อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้โดย
ปริยายนี้ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ก็เป็น 2 อย่าง.
[557] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้วิจิกิจฉาในธรรมทั้งหลายในภายใน
ก็เป็นนิวรณ์ แม้วิจิกิจฉาในธรรมทั้งหลายในภายนอกก็เป็นนิวรณ์ คำว่า
วิจิกิจฉานิวรณ์ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้โดยปริยายนี้ วิจิกิจฉานิวรณ์ก็เป็น
2 อย่าง.
[558] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปริยายนี้แล ที่นิวรณ์ 5 อาศัยแล้ว
เป็น 10 อย่าง.
[559] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ปริยายที่โพชฌงค์ 7 อาศัยแล้วเป็น
14 อย่าง เป็นไฉน.
[560] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้สติในธรรมทั้งหลายในภายในก็เป็น
สติสัมโพชฌงค์ แม้สติในธรรมทั้งหลายในภายนอกก็เป็นสติสัมโพชฌงค์ คำว่า
สติสัมโพชฌงค์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้โดยปริยายนี้ สติสัมโพชฌงค์ก็เป็น
2 อย่าง.
[561] แม้ธรรมทั้งหลายในภายใน ที่บุคคลเลือกเฟ้นตรวจตราถึง
ความพินิจพิจารณาด้วยปัญญา ก็เป็นธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ แม้ธรรมทั้งหลาย
ในภายนอกที่บุคคลเลือกเฟ้นตรวจตราถึงความพินิจพิจารณาด้วยปัญญา ก็เป็น
ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ คำว่า ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ
แม้โดยปริยายนี้ ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ก็เป็น 2 อย่าง.
[562] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ความเพียรทางกายก็เป็นวิริยสัม-
โพชฌงค์ แม้ความเพียรทางจิตก็เป็นวิริยสัมโพชฌงค์ คำว่า วิริยสัมโพชฌงค์
ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้โดยปริยายนี้ วิริยสัมโพชฌงค์ก็เป็น 2 อย่าง.

[563] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ปีติที่มีวิตกวิจารก็เป็นปีติสัม-
โพชฌงค์ แม้ปีติที่ไม่มีวิตกวิจารก็เป็นปีติสัมโพชฌงค์ คำว่า ปีติสัมโพชฌงค์
ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้โดยปริยายนี้ ปีติสัมโพชฌงค์ก็เป็น 2 อย่าง.
[564] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ความสงบกายก็เป็นปัสสัทธิสัม-
โพชฌงค์ แม้ความสงบจิตก็เป็นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ คำว่า ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์
ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้โดยปริยายนี้ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ก็เป็น 2 อย่าง.
[565] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้สมาธิที่มีวิตกวิจารก็เป็นสมาธิสัม-
โพชฌงค์ แม้สมาธิที่ไม่มีวิตกไม่มีวิจารก็เป็นสมาธิสัมโพชฌงค์ คำว่า
สมาธิสัมโพชฌงค์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้โดยปริยายนี้ สมาธิสัมโพชฌงค์
ก็เป็น 2 อย่าง.
[566] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ความวางเฉยในธรรมทั้งหลาย
ในภายในก็เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ แม้ความวางเฉยในธรรมทั้งหลายในภาย
นอก ก็เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ คำว่า อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ดังนี้ ย่อม
มาสู่อุเทศ แม้โดยปริยายนี้ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ก็เป็น 2 อย่าง.
[567] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปริยายนี้แล ที่โพชฌงค์ 7 อาศัยแล้ว
เป็น 14 อย่าง.
จบปริยายสูตรที่ 2

อรรถกถาปริยายสูตร



พึงทราบวินิจฉัยในปริยายสูตรที่ 2.
บทว่า สมฺพหุลา ความว่าชน 3 คน ท่านเรียกว่า มากหลาย โดยปริยาย
ในวินัย. มากกว่า 3 คนนั้น เรียกว่า สงฆ์. 3 คน เรียกว่า 3 คนเหมือนกัน
โดยปริยายแห่งพระสูตร แต่ 3 คนขึ้นไป เรียกว่า มากหลาย. ในที่นี้
พึงทราบว่า มากหลาย โดยปริยายแห่งพระสูตร. บทว่า ปิณฺฑาย ปวิสึสุ
ได้แก่ เข้าไปเพื่อบิณฑบาต. ก็ภิกษุเหล่านั้นยังไม่เข้าไปก่อน แต่เรียกว่า
เข้าไปแล้ว เพราะออกไปด้วยคิดว่า จักเข้าไป. ถามว่า เหมือนอะไร. ตอบว่า
เหมือนคนออกไปด้วยคิดว่า จักไปบ้าน แม้ยังไม่ทันถึงบ้านนั้น เมื่อถูกเขา
ถามว่า คนชื่อนี้ ไปไหน. เขาจะตอบว่า ไปบ้านแล้ว ฉันใด ก็ฉันนั้น.
บทว่า ปริพฺพาชกานํ อาราโม นั้น ท่านกล่าวหมายถึงอารามของพวก
อัญญเดียรถีย์ปริพาชกมีอยู่ในที่ไม่ไกลพระเชตวัน. บทว่า สมโณ อาวุโส
ความว่า ดูก่อนผู้มีอายุ พระสมณโคดมเป็นครูของท่านทั้งหลาย.
บทว่า มยํปิ โข อาวุโส สาวกานํ เอวํ ธมฺมํ เทเสม
ความว่า ในลัทธิของพวกเดียรถีย์ ไม่มีคำนี้ว่า นิวรณ์ 5 พวกเธอพึงละ
โพชฌงค์ 7 พวกเธอพึงเจริญ ส่วนพวกเดียรถีย์เหล่านั้น ไปยังอารามยืนอยู่
ท้ายบริษัท ฟังธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นเหมือนมองดูสิ่งอื่น
เหมือนส่งใจไปในที่อื่น. แต่นั้น ก็กำหนดว่า สมณโคดมจะกล่าวว่า พวกท่าน
จงละสิ่งนี้ จงเจริญสิ่งนี้เถิด แล้วจึงไปยังอารามของตนให้จัดอาสนะไว้ท่ามกลาง
อาราม อันอุปัฏฐากชายหญิงห้อมล้อมยกศีรษะน้อมกายเข้าไป เมื่อแสดงอาการ